วันพฤหัสบดีที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ประวัติของการสักยันต์

การสักยันต์
เป็นการสักที่ต่างจากการสักทั่วไปที่มุ่งเน้นเรื่องความสวยงามหรือเพื่องานศิลปะ แต่การสักยันต์มีจุดประสงค์หลักในเรื่องของความเชื่อทางไสยศาสตร์ เช่น จะทำให้มีโชค แคล้วคลาด ปลอดภัย อยู่ยงคงกระพัน และพ้นจากอันตรายต่าง ๆ โดยมีความเชื่อว่า รูปแบบลายสักหรือยันต์แต่ละชนิดจะให้คุณที่ต่างกัน และผู้ที่ได้รับการสักยันต์จะต้องปฏิบัติตามข้อบังคับที่แต่ละสำนักกำหนดไว้ เช่น ห้ามด่าบิดามารดา ห้ามลบหลู่ครูอาจารย์ เป็นต้น
การสัก คือ การเอาเหล็กแหลมแทงลงด้วยวิธี การหรือเพื่อประโยชน์ต่าง ๆ กัน ใช้เหล็กแหลมจุ้มหมึกหรือน้ำมันแทงที่ผิวหนังให้เป็นอักขระ เครื่องหมายหรือลวดลาย ถ้าใช้หมึกเรียกว่าสักหมึก ถ้าใช้น้ำมันเรียกว่าสักน้ำมัน ส่วนคำว่า "ยันต์" ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน กล่าวว่า ยันต์คือตารางหรือลายเส้นเป็นตัวเลข อักขระหรือรูปภาพที่เขียน สัก หรือแกะสลักลงบนแผ่นผ้า ผิวหนัง ไม้ โลหะ เป็นต้น ถือว่าเป็นของขลัง เช่น ยันต์ตรีนิสิงเห ยันต์พระเจ้า ๕ พระองค์ เรียกเสื้อหรือผ้าเป็นต้นที่มีลวดลายเช่นนั้นว่า เสื้อยันต์ ผ้ายันต์ เรียกกิริยาที่ทำเช่นนั้นว่า ลงเลข ลงยันต์
ประวัติของการสักยันต์

การสักยันต์มีมาก่อนอาณาจักรสุโขทัย โดยต้นแบบน่าจะมาจากขอมในขณะที่ขอมยังครอบครองดินแดนสุวรรณภูมิเมื่อประมาณ 1,400 ปีที่แล้ว เพราะอักขระและลวดลายที่ใช้สักกันนั้นเป็นแบบอักษรขอมและใช้ภาษาบาลีเป็นส่วนใหญ่
ส่วนในประเทศไทยการสักสืบทอดกันมาแต่โบราณ ในอดีตข้าราชการของไทยจะทำตำหนิที่ข้อมือคนในบังคับซึ่งเป็นหน้าที่ของแผนกทะเบียนเป็นผู้บันทึกและรวบรวมสถิติชาย สันนิฐานว่า การทำเครื่องหมายลงบนร่างกายนี้อาจมีมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้น ในรัชสมัยของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ
แม้ว่าการสักยันต์ในประเทศไทยจะมีมาแต่โบราณ แต่ไม่มีหลักฐานยืนยันชัดเจนนัก จะมีก็แต่หลักฐานที่ปรากฏในวรรณคดีเรื่อง "ขุนช้างขุนแผน" และวรรณกรรมอื่น ๆ โดยเชื่อมโยงกับความเชื่อทางไสยศาสตร์ ทำให้แคล้วคลาดต่ออันตรายต่าง ๆ เป็นทางหนึ่งที่ช่วยให้จิตใจมีความมั่นคง ซึ่งการสักยันต์เพื่อหวังผลทางไสยศาสตร์จะแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ เพื่อผลทางเมตตามหานิยม และคงกระพันชาตรี

 (ดูข้อมูลเพิ่มเติม โปรดคลิกที่นี่)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น